วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2552

ข้อสงสัยในการทำสัญญาตามหลักการอิสลาม

ข้อสงสัยในการทำสัญญาตามหลักการอิสลาม
ถาม อะกั๊ด หมายถึงอะไร ?
ตอบ คำว่า “อะกั๊ด” (عقد พหูพจน์ คือ عقود) ในภาษาอาหรับหมายถึงความผูกพันทางกายภาพระหว่างสองฝ่าย
นักนิติศาสตร์มีคำจำกัดความ 2 อย่างสำหรับคำว่าอะกั๊ด ดังนี้
คำจำกัดความแรกครอบคลุมทุกสิ่งที่นำไปสู่ความผูกพันหรือความสัมพันธ์ ระหว่างสองฝ่ายหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ดังนั้น ตามคำจำกัดความนี้ อะกั๊ดจึงรวมถึงการซื้อและการขาย การขอร้อง การจำนำ เป็นต้น และอะกั๊ดของฝ่ายหนึ่งจะหมายถึงการชำระหนี้ด้วย
คำจำกัดความที่สองของคำว่าอะกั๊ดก็คือการกระทำที่ต้องอาศัยเจตนาของสอง ฝ่าย คำจำกัดความนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักนิติศาสตร์อิสลาม การกระทำของสองฝ่ายนี้รวมถึงการซื้อ/ขาย การแลกเปลี่ยนเงินตรา การทำสัญญามุฎอรอบ๊ะฮ์ (แบ่งกำไรและขาดทุน) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม (ภายใต้คำจำกัดความนี้) การกระทำที่ทำโดยฝ่ายเดียว เช่น การหย่าภรรยาหรือการชำระหนี้ เดิมทีแล้วจึงไม่ใช่อะกั๊ดถึงแม้ว่ามันจะมีผลตามกฎหมายก็ตาม
นักนิติศาสตร์อิสลามส่วนใหญ่กล่าวว่าอะกั๊ดประกอบด้วยคำกล่าวเสนอ คำตอบรับและสิ่งที่เสนอ ทั้งสามนี้เรียกว่าหลักหรือหลักการพื้นฐานของอะกั๊ด
เพื่อให้เป็นไปตามหลักการพื้นฐานดังกล่าว จำเป็นจะต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
ประการแรก : การเสนอและการตอบรับ
1) ทุกข้อเสนอและคำตอบรับจะต้องแสดงเจตนาของคู่สัญญาอย่างชัดเจน ดังนั้น คู่สัญญาจะต้องเป็นผู้ที่เหมาะสมและมีความสามารถที่จะทำสัญญา คนที่มีสติไม่สมประกอบ คนวิกลจริตและเด็กเล็กไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมจะทำสัญญา (ซึ่งทำให้สัญญาไม่ถูกต้องและใช้ไม่ได้) เพราะคนเหล่านี้ไม่มีความสามารถที่จะแสดงเจตนารมณ์ในการทำสัญญา
2) มีการเสนอและการตอบรับที่ถูกต้องและเหมาะสม ตัวอย่างเช่น นาย ก. ขายรถยนต์ให้แก่นาย ข. ในราคา 500,000 บาท และนาย ข.ตกลงตามข้อเสนอของนาย ก. และราคาที่นาย ก.เสนอด้วย
3) การตอบรับจะต้องทำทันทีหลังจากที่มีการเสนอ นี่หมายความว่าการตอบรับจะต้องกระทำในสถานที่เดียวกันนั้น (สถานที่และเวลาของการแลกเปลี่ยน) โดยไม่ปล่อยให้มีช่วงเวลามาขวางกั้นโดยไม่จำเป็นระหว่างการเสนอและการตอบรับ ในหนังสือ “อัลฟิกฮฺ อัลอิสลามี วะอาดิละตุฮา” เล่ม 4 หน้า 106-111 ดร.วะฮ์บะฮ์ อัซซุฮัยลี ได้กล่าวว่า “อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าฝ่ายหนึ่งไม่อยู่ในสถานที่และเวลาของการทำอะกั๊ด อะกั๊ดก็สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อฝ่ายหนึ่งได้รับทราบความประสงค์ของอีกฝ่าย หนึ่งไม่ว่าจะโดยจดหมาย ตัวแทน โทรศัพท์หรือการติดต่อสื่อสารอย่างอื่นๆที่ทันสมัยกว่า เช่น โทรสาร หรืออีเมล์ เป็นต้น
ประการที่สอง : สิ่งที่นำมาทำสัญญา สิ่งที่นำมาทำสัญญาหมายถึงสิ่งที่เป็นที่มาของอะกั๊ด ซึ่งมี 7 รูปแบบด้วยกัน คือ
1) อะกั๊ดที่ให้กรรมสิทธิ์ ( عقود التمليكات) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1.1 อะกั๊ดที่ให้สิทธิ์โดยการแลกเปลี่ยนร่วมกัน ( عقود المعاوضات) เช่น การซื้อและขาย การเช่าและการแต่งงาน เป็นต้น
1.2 อะกั๊ดที่ให้สิทธิ์โดยไม่คิดสิ่งใดตอบแทน ( عقود التبرّعات ) เช่น ของขวัญ การบริจาคและการวะกั๊ฟ (การอุทิศทรัพย์สินให้เป็นสารธารณประโยชน์)
2) อะกั๊ดที่ปล่อยกรรมสิทธิ์ ( عقود الاسقاطات ) เช่น การให้สิทธิ์ในการนำเงินที่ยืมไปใช้ และการหย่า
3) อะกั๊ดที่ให้อนุญาต ( عقودالاطلاقات ) เช่น การแต่งตั้งตัวทน (อัลวะกาละฮฺ) การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ (อัตเตาลีอ๊ะฮ์)
4) อะกั๊ดที่มีข้อจำกัด ( عقود التّقييدات ) เช่นข้อกำหนดที่ใช้กับผู้ล้มละลาย และการเพิกถอนการแต่งตั้ง
5) อะกั๊ดเป็นเอกสารที่ให้ความเชื่อมั่น ( عقود التَّوثِيْقات ) เช่น ความแน่นอนและการจำนำ
6) อะกั๊ดการมีส่วนร่วมกัน ( عقود الاشتراك ) เช่น สัญญามุชารอก๊ะฮ์ และสัญญามุฎอรอบ๊ะฮ์
7) อะกั๊ดดูแลรักษา ( عقود الحفظ ) เช่น สัญญาวาดิอ๊ะฮ์
สัญญาหรืออะกั๊ดเหล่านี้ต่างมีเงื่อนไขต่างๆของมันเอง ดังนี้
1. สิ่งที่จะนำมาทำสัญญาจะต้องไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของอะกั๊ดเองและจะต้องเป็นไป ตามกฎของศาสนา เช่น ไม่ใช่ซากสัตว์ สื่งมึนเมา หรือสุกร เป็นต้น
2. สิ่งที่จะนำมาทำสัญญาจะต้องมีอยู่ในตอนที่ทำสัญญา อย่างไรก็ตาม นักนิติศาสตร์อิสลามทั้งหมดก็เห็นพ้องต้องกันว่าเงื่อนไขนี้ไม่ใช่เงื่อนไข เบ็ดเสร็จสำหรับทุกสัญญา
นักนิติศาสตร์อิสลามในสำนักฮันบะลีมีความเห็นว่าอะไรบางอย่างที่ไม่มี อยู่ก็อาจเป็นสิ่งที่นำมาใช้ทำสัญญาได้โดยมีเงื่อนไขว่าคู่สัญญาที่เกี่ยว ข้องสามารถที่จะทำสิ่งนั้นหลังจากที่ทำสัญญาแล้วก็ได้ สิ่งที่สำคัญในการทำสัญญาก็คือจะต้องไม่มีความเสี่ยงใดๆและฝ่ายที่เกี่ยว ข้องสามารถที่จะส่งมอบสิ่งที่ทำสัญญาในเวลาที่กำหนดได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะสำคัญหรือไม่ก็ตามไม่ใช่เงื่อนไข ดังนั้น สัญญาเช่า การแบ่งกำไรและการซื้อขายผลไม้ที่ยังไม่สุกก็ถือว่าใช้ได้เพราะว่าไม่มีความ เสี่ยง การห้ามซื้อสิ่งที่ไม่มีอยู่ตามคำพูดของท่านนบีมุฮัมมัดที่กล่าวว่า “อย่าขายสิ่งที่ท่านไม่ได้เป็นเจ้าของ” นั้นหมายถึงสิ่งที่ผู้ขายไม่สามารถส่งมอบแก่ผู้ซื้อ ไมได้หมายถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่ (อิบนุกุดามะฮ, อัลมุฆนี เล่ม 4 หน้า 2000)
3. สิ่งที่ทำสัญญาจะต้องเป็นที่รู้ของทั้งสองฝ่าย
4. สิ่งที่ทำสัญญาจะต้องส่งมอบแก่คู่สัญญาตามเวลาที่กำหนดไว้
ประการที่สาม :
คู่สัญญาจะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมและมีความสามารถที่จะเข้าร่วมสัญญาได้ หมายความว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องรับผิดชอบในสัญญาได้ นั่นคือ มีสติสมประกอบ เป็นผู้ใหญ่และรู้จักใช้สติปัญญาได้แล้ว คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องไม่ถูกห้ามจากการซื้อขายแลกเปลี่ยน และทั้งสองฝ่ายจะต้องไม่ถูกบังคับโดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดให้ทำสัญญาดังกล่าว

ถาม สัญญา (อะกั๊ด) จะเกิดขึ้นได้อย่างไรในโลกไอทีปัจจุบัน ?
ตอบ การพัฒนาในโลกปัจจุบันได้ทำให้อินเตอร์เนตกลายเป็นสื่อของการ แลกเปลี่ยนในศตวรรษที่ 21 เป็นแหล่งของข้อมูลข่าวสารอันหลากหลาย เป็นระบบสื่อสารที่รวดเร็วและค่าใช้จ่ายต่ำ เป็นเครือข่ายของโลก เป็นการสร้างโลกไซเบอร์ที่จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดโอกาสให้มีการทำ ธุรกิจได้กว้างขวางขึ้น
ด้วยอินเตอร์เนตนี่เองที่ก่อให้เกิดวิธีการติดต่อสื่อสารทางธุรกิจที่ เรียกว่า อีแบ๊งค์กิ้ง (ธนาคารอีเล็คโทรนิก) อีคอมเมิร์ซ (การพาณิชย์อีเล็กโทรนิก) อีอินชัวรันซ์ (ประกันภัยอีเล็กโทรนิก) ซึ่งสถาบันทางการเงินและตลาดหุ้นนำมาใช้ เท่าที่ผ่านมา เครื่องมือติดต่อสื่อสารทางธุรกิจเหล่านี้เป็นที่รู้กันดีว่ามีประสิทธิภาพ และประสบผลสำเร็จ
ก่อนที่จะมีการติดต่อสื่อสารดังกล่าว โลกเราก็เคยมีการติดต่อสื่อสารอื่นๆ ในทำนองนี้มาแล้ว เช่น โทรศัพท์ โทรสาร เป็นต้น
กฎของชะรีอ๊ะฮฺในเรื่องการติดต่อสื่อสารสมัยใหม่
หนังสือ “อัลฟิกฮฺ อะลา มะซาฮิบ อัลอัรฺบะอ๊ะฮฺ” เล่ม 2 กล่าวว่าอิสลามกำหนดว่าการซื้อขายแลกเปลี่ยนจะต้องวางพื้นฐานอยู่บนสัญญา (อะกั๊ด) ซึ่งเป็นความผูกพันระหว่างฝ่ายเสนอและฝ่ายตอบรับ
ในการจะเข้ามาร่วมทำสัญญานั้นมีหลักการที่จะต้องปฏิบัติตาม 3 ประการดังนี้ คือ
1) มีคู่สัญญาสองฝ่าย
2) วัตถุประสงค์ของสัญญา
3) การกล่าวคำสัญญา (การเสนอและตอบรับ) เมื่อมีผู้ซื้อ ผู้ขาย สินค้า(สิ่งของ) และข้อความที่ระบุถึงข้อเสนอและการตอบรับ กล่าวคือ เมื่อทั้งสองฝ่ายพึงพอใจกับประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับจากการทำธุรกรรมแล้ว การทำธุรกรรมนั้นก็ถือว่าเป็นที่ถูกต้องเว้นเสียแต่ว่าการทำธุรกรรมนั้นไม่ สอดคล้องกับหลักกฎหมายอิสลาม
อะกั๊ดอาจมี 2 รูปแบบ คือ
1) อะกั๊ดโดยวาจา
2) อะกั๊ดเป็นลายลักษณ์อักษร
ตัวอย่างของสัญญาด้วยวาจาก็คือสัญญาที่ทำกันทางโทรศัพท์ สัญญาเช่นนี้ได้รวมอยู่ในความหมายของคำว่า “สถานที่และเวลา” (มัจญ์ลิส) สำหรับการทำสัญญาด้วย ดังนั้น การไปปรากฏตัวในสถานที่หนึ่งที่ใดจึงไม่จำเป็น รูปแบบของสัญญาประเภทนี้เริ่มด้วยการตอบรับโทรศัพท์ของฝ่ายหนึ่งและจบลงด้วย การตกลงทางโทรศัพท์ของอีกฝ่ายหนึ่ง
ตัวอย่างของสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็คือแฟกซ์ อีแบ๊งค์กิ้ง อีเมล์ เป็นต้น การทำสัญญาจะถูกต้องใช้ได้ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตามหลักการของสัญญาซึ่งทำ ให้มันแตกต่างไปจากการเป็นเพียงข้อตกลง สถานที่และเวลาสำหรับการทำสัญญา (มัจญ์ลิส) เริ่มต้นเมื่อสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรได้ถูกอีกฝ่ายหนึ่งตอบรับหลังจาก ที่ได้รับตอบตกลง
บนพื้นฐานดังกล่าวมาก็ไม่มีข้อห้ามใดๆที่จะทำสัญญาโดยการติดต่อสื่อสารสมัยใหม่ในโลกธุรกิจปัจจุบัน
ความจริงแล้ว อิสลามก็ยอมรับสัญญาที่ทำกันด้วยอินเตอร์เนต ในที่ประชุมวิชาการนิติศาสตร์อิสลามซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-23 เดือนชะอ์บาน ฮ.ศ.1410 (ตรงกับวันที่ 14-20 มีนาคม 1990) ได้กล่าวว่า :-
ประการแรก : ถ้าสองฝ่ายทำสัญญากันโดยไม่ได้ปรากฏตัวอยู่ในที่หนึ่ง และไม่สามารถได้ยินหรือเห็นกัน แต่ติดต่อกันโดยการเขียนหรือโดยการใช้เครื่องมือสื่อสารซึ่งรวมทั้งโทรเลข เทเล็กซ์ แฟกซ์หรือคอมพิวเตอร์ สัญญานั้นจะถือว่าสมบูรณ์เมื่อการเสนอได้ถูกติดต่อสื่อสารไปยังฝ่ายที่ ตั้งใจไว้และการยอมรับได้ถูกสื่อสารไปยังผู้ที่ได้ทำการเสนอแล้ว
ประการที่สอง : ถ้าสองฝ่ายทำสัญญากันในเวลาเดียวกัน แต่ทั้งสองฝ่ายอยู่ต่างสถานที่กัน เช่นในกรณีของการทำสัญญาทางโทรศัพท์และวิทยุ ก็ถือว่านั่นเป็นสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายปรากฏตัวอยู่ ในกรณีนี้ ให้นำกฎดั้งเดิมที่นักนิติศาสตร์มุสลิมกำหนดไว้มาใช้
ประการที่สาม : ถ้าหากใครคนหนึ่งอาศัยเครื่องมือเหล่านี้เพิ่มข้อเสนอภายในระยะเวลาที่กำหนด ไว้ เขาจะต้องปฏิบัติตามข้อเสนอของเขาตลอดระยะเวลานั้นและไม่สามารถถอนสัญญาได้
ประการที่สี่ : หลักการทำสัญญา 3 ประการที่กล่าวไว้ข้างต้นไม่ครอบคลุมสัญญาแต่งงาน (เพราะการมีพยาน 2 คนเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการทำให้สัญญามีผลถูกต้อง) และไม่รวมไปถึงสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตรา (เพราะมันต้องอาศัยการเป็นเจ้าของ) และไม่ครอบคลุมถึงสัญญาซื้อขายแบบ “สะลัม"(เพราะว่ามันกำหนดให้มีการจ่ายราคาทุนทันที)
ประการที่ห้า : ในเรื่องของความเป็นไปได้ที่จะมีการปลอม การบิดเบือนหรือการทำผิดนั้นจะต้องอาศัยกฎทั่วไปเกี่ยวกับหลักฐาน


ผู้เขียนบทความ : อ.บรรจง บินกาซัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น