วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552

เครือข่ายสหกรณ์อิสลามภาคใต้เปิดรับโครงการเมืองไทยตะกาฟุล

คณะกรรมการเมืองไทยชารีอะห์และผู้บริหารเมืองไทยตะกาฟุล เข้าร่วมหารือกับคณะทำงานเครือข่ายสหกรณ์อิสลามภาคใต้เกี่ยวกับโครงการเมืองไทยตะกาฟุล ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี เมื่อวันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้
การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในกรอปความร่วมมือระหว่างเมืองไทยตะกาฟุลและเครือข่ายสหกรณ์อิสลามภาคใต้
ในด้านการให้บริการเมืองไทยตะกาฟุลแก่พี่น้องมุสลิมโดยมีท่านอาจารย์อรุณ บุญชม ประธานคณะกรรมการเมืองไทยชารีอะห์เป็นหัวหน้าคณะทำงานของเมืองไทยตะกาฟุล และ ตัวแทนจากเครือข่ายรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนาหลายท่านเข้าร่วม อาทิเช่น รศ.ดร.อิสมาแอล อาลี ผู้อำนวยการอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี ดร.มะรอนิง สาแลมิง ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิกฮ์ซึ่งเป็น อ.ประจำวิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี ดร.อับดุลฮาลิม ไซซิง คณบดีคณะอิสลามศึกษา วิทยาลัยอิสลามยะลา เมืองไทยตะกาฟุลเป็นโครงการของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด เพื่อให้บริการที่ถูกต้องตามหลักการอิสลามแก่พี่น้องมุสลิม
โดยเล็งเห็นว่าโครงการตะกาฟุลที่เป็นที่ยอมรับในประเทศมาเลเซียเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องมุสลิม จึงดำเนินการเพื่อให้บริการที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องมุสลิมในประเทศไทยบ้าง โดยใช้หลักของการมอบอำนาจให้บริษัทเป็นผู้บริหารจัดการ ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้เชี่ยวชาญ และมีความมั่นคง ในการประชุมดังกล่าวได้มีการหารือในด้านหลักวิชาการศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของเมืองไทยตะกาฟุล ทั้งนี้ อ.อรุณ บุญชม ประธานคณะกรรมการเมืองไทยชารีอะห์ ได้กล่าวว่า “การประชุมดังกล่าวเป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย เนื่องจากเป็นการประชุมเพื่อหาข้อสรุปในแนวทางการดำเนินการร่วมกัน ในช่วงเริ่มต้นการดำเนินการในหลายๆด้านต้องดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาต อาจจะไม่ได้ดังใจทั้งหมด แต่หากเราร่วมมือกันและเข้มแข็ง เสียงของเราก็จะดังขึ้น กฎระเบียบต่างๆ ก็อาจเป็นไป ตามที่เราต้องการได้” ขณะเดียวกัน อ.บรรจง บินกาซัน กรรมการเมืองไทยชารีอะห์ และนักแปล นักเขียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ ให้ได้ข้อคิดเห็นว่า “อยากให้มองว่าตะกาฟุลเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่ามองว่าเป็นเรื่องซื้อ-ขาย ทุกๆฝ่ายได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้และขอให้เหนียตว่าเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะทำให้กลุ่มเหนียวแน่นและมั่นคงขึ้น” การประชุมดังกล่าวเต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ เจาะลึกเรื่องการดำเนินการของเมืองไทยตะกาฟุลว่าดำเนินการได้ถูกต้องตามหลักศาสนาอย่างไรบ้าง จะมีการนำมาปรับใช้กับวิถีชีวิตมุสลิมและการดำเนินงานของสหกรณ์ได้อย่างไร ตลอดการประชุมมีการถาม-ตอบและแบ่งปันข้อคิดเห็นซึ่งกันและกันจากท่านผู้รู้ในสาขาต่างๆ
และสามารถสรุปได้ว่า ว่าจะมีสหกรณ์บางส่วนดำเนินการนำร่องไปก่อน แล้วแต่สหกรณ์ไหนจะรับอาสา ทั้งนี้รศ.ดร.อิสมาแอล อาลีได้แสดงความคิดเห็นกับสำนักข่าวมุสลิมไทยต่อตะกาฟุลว่า
“ในปัจจุบันเรื่องประกันมีความจำเป็นและเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิต มนุษย์มีความต้องการในเรื่องต่างๆมากขึ้น อย่างไรก็ดีให้พิจารณาดูว่าอันไหนถูกต้องมากที่สุดก็สนับสนุน ไม่ใช่คำนึงถึงผลประโยชน์ ให้สนับสนุนตามหลักการ แนะนำว่าสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้แก้ไข และให้รับและนำไปเผยแพร่ ผลักดันสิ่งที่ดีที่สุด
ขณะเดียวกันก็ให้พิจารณาดูที่ปรึกษาด้วย ที่ปรึกษาไม่ใช่แค่เป็นมุสลิมเท่านั้น แต่ต้องรู้ละเอียดเกี่ยวกับการประกันและหลักชารีอะห์ ตลอดจนดูแลการดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักอิสลาม”
อาจารย์อรุณ บุญชม
บรรยากาศการประชุม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น