วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2552

เกษตรฯรุกขยายตลาดสินค้า"ฮาลาล"ไปทวีปอเมริกาเหนือ

เกษตรฯรุกขยายตลาดสินค้า"ฮาลาล"ไปทวีปอเมริกาเหนือ

นางสาวเมทนี สุคนธรักษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปี 2552 นี้ มกอช.ได้มีแผนส่งเสริมผลักดันการส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังทวีปอเมริกาเหนือทั้งในประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศ มีประชากรมุสลิมรวมกันมากกว่า 10 ล้านคน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีแนวโน้มค่อนข้างสดใส ประเทศไทยจึงมีโอกาสสูงที่จะขยายตลาดสินค้าฮาลาลเนื่องจากไทยมีความสามารถใน การผลิตสินค้าให้เป็นไปตามศาสนบัญญัติ รวมทั้งมีคุณภาพและราคาที่สามารถแข่งขันได้ทั้งสินค้าที่เป็นอาหาร เช่น ไก่ปรุงสุก ซอสปรุงรส เครื่องดื่ม และน้ำผลไม้ รวมทั้งสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร เช่น เครื่องสำอางและเสื้อผ้า เป็นต้น

มกอ ช.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งศึกษากฎระเบียบและเงื่อนไขการนำเข้า รวมถึงการตลาดสินค้าอาหารฮาลาลในทวีปอเมริกาเหนือ รวมทั้งยังได้ร่วมมือกับ สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำสหรัฐอเมริกาเชิญเลขาธิการสมาคมอิสลามแห่งอเมริกาเหนือ (ISNA) เดินทางมาดูระบบการผลิตและตรวจสอบสินค้าฮาลาลของไทย ผลปรากฏว่า ISNA มีความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการผลิต จึงได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในการยอมรับมาตรฐานของตราสัญลักษณ์ฮาลาลไทย รวมทั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบสินค้าฮาลาลที่สำคัญของไทย จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการขยายตลาดฮาลาลในอเมริกาเหนือ

“ขณะ นี้ไทยกำลังเร่งศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของตลาดสินค้าอาหารฮาลาล ทั้งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เช่น รสนิยม พฤติกรรมการบริโภค ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถผลิตสินค้าอาหารฮาลาลเจาะตลาดได้ตรงความต้องการของ ผู้บริโภคในทวีปอเมริกาเหนือ รวมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ตราสัญลักษณ์ฮาลาลร่วมกัน เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ใน ตราสัญลักษณ์ของไทย ด้วย นอกจากนี้แคนาดาและสหรัฐฯ ไม่ได้กำหนดกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าฮาลาลเป็นมาตรการภาคบังคับ และไม่ต้องตรวจสอบกระบวนการผลิตก่อนส่งออก ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงโดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ซึ่งคาดการณ์ว่ามีมูลค่าสินค้าฮาลาลสูงถึง 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี หรือกว่า 396,000 ล้านบาท ขณะที่สินค้าไก่และผลิตภัณฑ์ในแคนาดาก็มีแนวโน้มสดใสเช่นกัน” นางสาวเมทนี กล่าว

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน ผู้อำนวยการกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร มกอช.กล่าวว่า ถึงแม้ผู้นำเข้ารายใหญ่อย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (EU) จะได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย ในส่วนของตลาดสินค้าฮาลาลคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ยังมีแนวโน้มดีเพราะกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมก็สามารถรับประทานได้ ซึ่งปีนี้ไทยยังมีโอกาสขยายและเปิดตลาดในกลุ่มตะวันออกกลางได้เพิ่มขึ้น อาทิ ประเทศตุรกี ซูดาน และโอมาน มีความน่าสนใจและเป็นไปได้สูงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับสินค้าอาหารฮาลาลไทย จำเป็นต้องเร่งศึกษาการตลาดเพิ่มเติมโดยเฉพาะเรื่องรสนิยมของผู้บริโภค เพื่อผู้ประกอบการจะได้ผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะช่วยผลักดันส่งออกสินค้าฮาลาลไทยไปสู่ตลาดโลกได้เพิ่มสูงขึ้น

source : matichon

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น