วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552

ธนาคารระบบอิสลาม(Islamic Bank System)

แนวคิดเรื่องธนาคารระบบอิสลามหรือระบบการธนาคารที่ดำเนินการภายใต้หลักของศาสนาอิสลาม ซึ่งนิยมเรียกเป็นสามัญว่า “ ธนาคารอิสลาม ” มีมาในสังคมไทยเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี แต่สำหรับสังคมไทยโดยทั่วไปแล้วเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่มาก

แม้ ว่าการก่อตั้งธนาคารอิสลามดูไบ (Dubai Islamic Bank) ซึ่งเป็นธนาคารระบบอิสลามในรูปแบบปัจจุบันได้ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2518 และได้ขยายตัวทั้งธนาคารเต็มรูปแบบและเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารระบบเดิม (WINDOWS) โดยได้รับการยอมรับจากทั้งมุสลิม และผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิมไปทั่วทั้งเอเชีย ยุโรป อัฟริกา อเมริกา และออสเตรเลีย ไม่น้อยกว่า 48 ประเทศ มากกว่า 280 ธนาคาร

วิวัฒนาการของธนาคารอิสลาม

ใน ปี พ.ศ.2506 Ahmad El Najjar ได้ก่อตั้งธนาคารเพื่อการออมทรัพย์ขึ้นที่เมือง Mit Ghamr ประเทศอียิปต์ ดำเนินงานโดยยึดหลักการแบ่งปันผลกำไรขึ้นเป็นครั้งแรก และเมื่อปี พ.ศ. 2510 ได้เกิดธนาคารประเภทเดียวกันนี้อีก 9 แห่ง ธนาคารเหล่านี้จะไม่คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ และไม่จ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝากเงิน ธนาคารจะนำเงินที่รับฝากไปลงทุนในการค้า และอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่เป็นการลงทุนของธนาคารเองทั้งหมด หรือร่วมลงทุนกับบุคคลอื่น แล้วแบ่งปันผลกำไรที่ได้จากการค้าการลงทุนกับผู้ฝากเงิน ธนาคารเหล่านี้ทำหน้าที่เสมือนเป็นสถาบันการเงินเพื่อการออมทรัพย์และการลง ทุนมากกว่าการเป็นธนาคารพาณิชย์ การดำเนินของธนาคารในช่วงนี้ไม่สามารถแสดงออกอย่างเปิดเผยได้ว่าเป็นธนาคาร ที่ดำเนินการตามหลักศาสนาอิสลาม หรือธนาคารอิสลาม เนื่องจากขัดกับนโยบายของรัฐบาล

ต่อมาในปี พ.ศ.2517 องค์กรกลุ่มประเทศอิสลาม (Organization of Islamic Countries : OIC) ได้ร่วมกันจัดตั้งธนาคารอิสลามเพื่อการพัฒนา (Islamic Development Bank : IDB) ขึ้นที่ เมืองญิดดะฮ์ ประเทศซาอุดีอารเบีย มีวัตถุประสงค์เพื่อการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับโครงการเพื่อการพัฒนาใน กลุ่มประเทศสมาชิก โดยยึดหลักศาสนาอิสลามอย่างเปิดเผยและชัดแจ้ง ซึ่งต่อมาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศมุสลิมได้เปลี่ยนแปลงไป การดำเนินงานธนาคารอิสลามจึงไม่เป็นสิ่งที่ต้องปกปิดอีกต่อไป

ธนาคาร อิสลามจึงได้แพร่หลายไปในกลุ่มประเทศมุสลิมต่าง ๆ จนปัจจุบัน ประเทศปากีสถาน อิหร่าน ซูดาน ได้ยกเลิกระบบธนาคารปกติ (Conventional Banking) มาใช้ธนาคารระบบอิสลามแทนทั้งประเทศ ส่วนประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ได้มีการจัดตั้งสถาบันการเงินที่ดำเนินการตามหลักศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก ขึ้นตามลำดับ เช่น ที่อังกฤษ ซึ่งเป็นตลาดเงินระบบอิสลามที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มี Barclay Capital , HSBC Amanah Finance, ANZ International Merchant Banking,London. Citibank International Plc.,London. ฯลฯ สหรัฐอเมริกา มี HSBC.USA, Bank Sepa.Iran ฯลฯ ฝรั่งเศส มี Societe General , BNP Paribars เยอรมัน มี Commerz Bank , Deutsche Bank สวิตเซอร์แลนด์ มี Dar Al Maal Al Islami, United Bank of Switzerland (UBS) เป็นต้น

หลักการของธนาคารอิสลาม

หลัก การที่สำคัญของอิสลามเกี่ยวกับระบบธนาคารคือการห้ามเรื่องดอกเบี้ย (Riba) ทั้งการรับและการให้ ซึ่งปรากฏชัดเจนในอัลกุรอาน (2:275) “อัลลอฮฺอนุมัติการค้า และห้ามดอกเบี้ย” (2:276) “อัลลอฮฺตัดสิทธิ์ดอกเบี้ยจากความกรุณาทั้งปวง แต่จักเพิ่มพูนสำหรับการบริจาค” และอื่นๆ อีกพอสรุปได้ 5 ประเด็น คือ

1. ดอกเบี้ยจะกีดกันไม่ให้ได้รับความจำเริญจากอัลลอฮฺ
2. ประณามดอกเบี้ยว่าเป็นสิ่งที่พรากเอาไปจากทรัพย์สินของผู้อื่น อย่างไม่ถูกต้อง
3. ให้มุสลิมอยู่ห่างจากดอกเบี้ย เพื่อประโยชน์แห่งความดีของตัวเอง
4. ให้ความหมายที่บ่งบอกถึงความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยและการค้า
5. สนับสนุนให้มุสลิมเอาเฉพาะเงินต้นคืน อีกทั้งให้ยกหนี้หากลูกหนี้ไม่สามารถใช้หนี้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ อัลลอฮฺได้กำชับว่า ผู้ที่ละเลยไม่คำนึงถึงข้อห้ามเกี่ยวกับดอกเบี้ย เป็นการทำสงครามกับพระองค์ และศาสดา มูฮำหมัด (ซ.ล)

หลัก การของศาสนาอิสลามเน้นความเป็นธรรมในสังคม จะเห็นได้ว่าการกำหนดดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่ตายตัวของสถาบันการเงิน ย่อมทำให้ผู้กู้เงินแบกรับความเสี่ยงตามลำพัง ธนาคารต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยเงินฝากโดยคิดดอกเบี้ยสูงจากผู้กู้ ผู้ฝากเงินไม่ต้องรับภาระใด ๆ ดังนั้นการที่เจ้าของเงิน ธนาคาร และผู้ฝากเงินร่วมรับภาระและความเสี่ยง แบ่งปันผลกำไรจากการดำเนินงาน จะสร้างความเป็นธรรมและสร้างเสถียรภาพแก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะสถาบันการเงินได้ดีกว่าระบบการให้กู้ยืมโดยการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ที่แน่นอนตายตัว

ในเมื่ออิสลามได้ห้ามเรื่องดอกเบี้ย(ริบา) ทางออกของธนาคารอิสลาม จึงเป็น “ ธนาคารเพื่อการค้าและการลงทุน ” และให้บริการต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย ภายใต้กฎของศาสนาอิสลาม (Shariah)

รูปแบบการประกอบธุรกิจของธนาคารอิสลาม

การ ประกอบธุรกิจของธนาคารอิสลามโดยทั่วไป จะมีความแตกต่างกับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินต่าง ๆ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยและธุรกรรมที่ต้องห้ามตามหลักศาสนาอิส ลาม ธุรกรรมโดยทั่วไป มี

1. การรับฝากเงิน
โดยทั่ว ๆ ไปธนาคารอิสลามจะรับฝากเงินจากลูกค้าใน 2 ลักษณะ คือ

1.1 รับฝากเพื่อการรักษาทรัพย์ (Safe Custody) ธนาคารรับฝากเงินจากลูกค้าเพื่อการรักษาทรัพย์สินให้ปลอดภัย และยินยอมให้ธนาคารนำเงินดังกล่าวไปลงทุนได้ ส่วนผลตอบแทนที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นของธนาคาร (โดยทั่วไปธนาคารที่ได้ดำเนินการมาแล้วในประเทศต่าง ๆ จะจ่ายผลตอบแทนให้เป็นของขวัญ แต่ไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่ธนาคารต้องจ่าย) ธนาคารจะรับประกันเงินฝากทั้งหมดและคืนเงินเต็มจำนวนเมื่อลูกค้าทวงถาม ธนาคารในระบบอิสลามเรียกเงินฝากประเภทนี้ว่า อัล-วะดีอะห์ (Al Wadiah) มีบัญชี 2 ประเภทคือ
- บัญชีกระแสรายวัน (Current Account)
- บัญชีออมทรัพย์หรือสะสมทรัพย์ (Savings Account)

1.2 รับฝากเพื่อนำเงินไปลงทุน (Investment) ธนาคารรับฝากเงินจากลูกค้าเพื่อนำเงินไปประกอบการค้าหรือลงทุน โดยแบ่งผลตอบแทนจากกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายของธนาคาร ในอัตราส่วนที่ได้ตกลงกันตอนฝากเงิน หรือในกรณีขาดทุน ผู้ฝากเงินรับภาระในส่วนเงินลงทุนเท่านั้น ธนาคารจะรับภาระค่าบริหารจัดการทั้งหมดและไม่สามารถจะไปหักจากเงินฝากของ ลูกค้าได้ เงินฝากประเภทนี้เรียกว่า อัล-มูฎอรอบะห์ (Al Mudarabah) ซึ่งมีบัญชีสำหรับการลงทุนทั่วไปของธนาคารหรืออาจมีบัญชีเพื่อการลงทุนเฉพาะ โครงการใดโครงการหนึ่งก็ได้

2. การให้สินเชื่อและการลงทุน
การ ให้สินเชื่อของธนาคารอิสลาม นอกจากจะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของโครงการ โอกาสของธุรกิจ ความสามารถในการชำระหนี้คืนของลูกหนี้ ผลตอบแทนที่ธนาคารจะได้รับจาการให้สินเชื่อ และปัจจัยอื่น ๆ เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปแล้ว ธนาคารอิสลามจะต้องพิจารณาถึงประโยชน์ของการให้สินเชื่อที่จะเกิดแก่ผู้กู้ และสังคมโดยรวมด้วย ไม่เป็นการให้กู้ยืมเพื่อสนองความต้องการอุปโภคบริโภคที่ฟุ่มเฟือย ไม่เป็นกิจการที่ต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม เช่น กิจการที่เกี่ยวข้องกับสุรา สถานบันเทิง การพนัน เป็นต้น มีรูปแบบการให้สินเชื่อและการลงทุนโดยทั่วไปดังนี้

2.1 สินเชื่อโครงการ ภายใต้หลัก อัล มูฎอรอบะห์ Al Mudarabah (Trust Financing) ธนาคารจะเป็นผู้ลงทุนด้านการเงินเองทั้งหมด ลูกค้าหรือเจ้าของโครงการเป็นผู้บริหารจัดการ โดยแบ่งกำไรตามอัตราส่วนที่ได้ตกลงกันไว้ ในกรณีขาดทุน ผู้ฝากเงินรับภาระขาดทุน ธนาคารรับภาระในส่วนค่าใช้จ่ายของ ธนาคาร ลูกค้ารับภาระค่าบริหาร

2.2 สินเชื่อโครงการ ภายใต้หลัก อัล มูชารอกะห์ Al Musharaka (Venture capital finance) ธนาคารลงทุนเงินร่วมกับลูกค้าในฐานะหุ้นส่วน โดยตกลงอัตราส่วนแบ่งกำไรไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนได้ ในกรณีขาดทุนทุกฝ่ายรับภาระตามสัดส่วนการลงทุน

2.3 สินเชื่อเพื่อการจัดหาทรัพย์สิน ภายใต้หลักอัล มูรอบาฮะห์ Al Murabaha (Cost plus financing) เป็นสินเชื่อที่ธนาคารจะจัดหาทรัพย์สินหรือสินค้าตามที่ลูกค้าต้องการ โดยบวกเพิ่มกำไร เสนอขายแก่ลูกค้าพร้อมเงื่อนไขในการชำระเงินให้ลูกค้าพิจารณา ลูกค้าจะชำระค่าสินค้าหรือทรัพย์สินตามสัญญาเท่านั้น ไม่บวกเพิ่มดอกเบี้ยตามสัญญาเช่าซื้อทั่วไป

2.4 สินเชื่อเพื่อสิทธิในการใช้บริการของทรัพย์สิน ภายใต้หลัก อัล อิญาเราะห์ Al Ijara (Leasing) ธนาคารจัดหาทรัพย์สินให้ลูกค้าเช่าตามความจำนงของลูกค้า โดยมีระยะเวลาและอัตราค่าเช่าที่แน่นอน เมื่อครบระยะเวลาเช่าลูกค้าต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนหรือซื้อทรัพย์สินนั้น ในกรณีที่ระบุไว้ในสัญญา

2.5 สินเชื่อเพื่อการสงเคราะห์และช่วยเหลือ ภายใต้หลักก็อด อัล หะซัน Qard Al Hasan ธนาคารให้สินเชื่อโดยไม่คิดผลตอบแทนหรือกำไรจากลูกค้า เป็นการให้สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและสงเคราะห์ เช่นสินเชื่อเพื่อการศึกษา สินเชื่อเพื่อผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ

2.6 สินเชื่อเพื่อการค้า (Trade financing) เป็นการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจของลูกค้า ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย การส่งออก นำเข้าสินค้า เครื่องจักร การจัดหาวัตถุดิบ อะไหล่ เช่น การซื้อขายล่วงหน้าภายใต้หลัก Bai Al Salam, Letter of credit, Letter of guarantee, Islamic export credit refinancing, Islamic accept bills เป็นต้น

3. บริการอื่น ๆ
เช่น เดียวกับธนาคารพาณิชย์ ที่ไม่ขัดต่อหลักของศาสนาอิสลาม เช่น บริการโอนเงิน บริการเรียกเก็บเงินตามตราสาร ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ บริหารจัดการเงินกองทุน เป็นต้น

นอกจากธนาคารอิสลามได้ แพร่หลายและได้รับการยอมรับโดยมีการจัดตั้งทั่วไปแล้ว ได้มีประเทศต่าง ๆ ที่ไม่มีธนาคารอิสลาม แต่ได้ใช้สินเชื่อระบบอิสลาม เช่น บริษัทอุตสาหกรรมของเกาหลี 3 บริษัท ได้รับสินเชื่อในปี 2542-2543 จากธนาคารอิสลามในลอนดอน จำนวน 147 ล้านเหรียญหรือประมาณ 6,321 ล้านบาท แล้ว หลักการ อิสลามได้ถูกนำมาใช้ในธุรกิจประกันชิวิต-ประกันภัย (Takaful) กองทุนร่วมลงทุน (Islamic mutual fund) ตลาดทุน (Islamic index) อีกด้วย และได้รับการจัด Islamic finance awards โดย Euromoney Magazine ฉบับเดือน มกราคม 2546 มีรายละเอียดดังนี้

Best at Islamic bonds : Aseambankers (Maybank Malaysia)
Best in Islamic project finance : Shamil Bank (Bahrain)
Most innovative Islamic finance house : First Islamic Investment Bank (Bahrain)
Best at takaful : Takaful Nasional (Malaysia)
Best at Islamic leasing : Kuwait Finance House (Kuwait)
Best at Islamic commodities dealing : Al-Rajhi Bank (Saudi Arabia)
Best at Islamic asset management : National Commercial Bank (UAE)
Best at Islamic retail bank : Maybank (Malaysia)
Best Islamic commercial bank : Bahrain Islamic Bank (Bahrain)

-------------------------
คัดลอกจาก: Thaiislamiccenter.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น