วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

อิสลามห้ามการกินดอกเบี้ย(The interest of islam)

หลักคำสอนของอิสลามในเรื่องการใช้จ่ายทรัพย์สิน ก็คือ มนุษย์จะต้องนำทรัพย์สินมาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดโดยไม่สร้างความเสียหายให้แก่สังคม และประการที่สำคัญที่สุด ก็คือ มุสลิมทุกคนจะต้องจ่ายซะกาตตามหลักการ และข้อกำหนดในบทบัญญัติของอิสลาม นั่นก็คือ การใช้จ่ายทรัพย์สินไปในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า หลีกเลี่ยงจากการทุจริต การคดโกง การลักขโมย การปล้นและการได้ทรัพย์สินมาโดยไม่ชอบธรรม มุสลิมจะต้องห่างไกลไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยเป็นการเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และพระองค์อัลลอฮฺ (ซุบฮาฯ) ก็ทรงห้ามในเรื่องการกินดอกเบี้ย ดังที่พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน บทอัลบะกอเราะฮฺ โองการที่ 275 ความว่า: บรรดาผู้กินดอกเบี้ยนั้น พวกเขาจะไม่ยืนขึ้น (ฟื้นขึ้นจากสุสานในปรภพได้อย่างท่าทางปรกติ) นอกจาก (พวกเขาจะยืนขึ้นมาในท่าที) ประดุจดังผู้ที่มารร้ายสิ่งสู่เนื่องจากความวิกลจริต นั่นเป็นเพราะพวกเขากล่าวว่า “อันที่จริงการค้าขายก็เหมือนกับดอกเบี้ยนั่นเอง” และอัลลอฮฺทรงอนุมัติการค้าขาย แต่ทรงห้ามการดอกเบี้ย

อิสลามห้ามดอกเบี้ย เพราะในความเป็นจริงนั้น อัตราดอกเบี้ยสูงจะไม่ส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณของการที่นายทุนจะนำเงินไปลงทุนธุรกิจกันมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามธนาคารจะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานมาขึ้น เพราะยิ่งอัตราอกเบี้ยสูงจะเกิดการลงทุนต่ำ นักธุรกิจและนายทุนไม่อยากที่จะลงทุนเมื่อกำไรที่ได้รับน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ย เช่น ถ้าหากอัตราดอกเบี้ยทั่วไปอยู่ในระดับ 4% และมีนายทุนคนหนึ่งจะกู้เงินไปทำธุรกิจส่งออกอาหารกระป๋องแต่ได้กำไรเพียง 3% (ซึ่งได้กำไรน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กู้เงินมา) ดังนั้นในความคิดเห็นของนักลงทุนแล้ว จะเห็นว่าธุรกิจการส่งออกอาหารกระป๋องไม่น่าจะลงทุนสู่เอาเงินไปฝากธนาคาร แล้วนอนอยู่บ้านคอยรับดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งให้ค่าตอบแทนมากกว่า ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการลงทุนก็ไม่เกิดขึ้น อัตราการว่างงานก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และในที่สุดก็จะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม คนที่มีเงินก็จะยิ่งรวยมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามคนที่ไม่มีก็จะยิ่งยากจนมากขึ้น และเมื่อใดก็ตามที่คนไม่มีงานทำ ไม่มีเงินที่จะมาซื้ออาหาร หรือปัจจัยยังชีพเพื่อประทังความหิวโหยก็จะหาทางออกโดยการปล้น ฉกชิง วิ่งราว และยิ่งกลายเป็นปัญหาสังคมมากขึ้นทุกวัน

อิสลามจึงได้พยายามที่จะสร้างความเสมอภาคในสังคม เพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนยากจน โดยผ่านทางกระบวนการที่เรียกว่า “ซะกาต” โดยเก็บจากเงินทุนส่วนเกินหรือผู้ที่มีทรัพย์สินมากเกินพอกับความต้องการไปให้กับคนยากจน ทั้งนี้เพื่อที่จะเป็นการกระจายความมั่งคั่งจากคนมั่งมีไปสู่คนยากจน และเมื่อใดก็ตามที่สังคมปราศจากความยากจน มนุษย์ทุกคนก็จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข
ดังนั้น ระบบเศรษฐศาสตร์อิสลามจึงเป็นระบบที่มีมาเพื่อแก้ไขปัญหาของมนุษย์เป็นการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทั้งนี้ก็จะต้องเป็นไปตามกรอบหรือขอบเขตที่อิสลามได้วางไว้ มนุษย์เองก็อยู่ในฐานะของผู้ถูกสร้างเช่นเดียวกัน แต่มนุษย์ได้รับสิทธิที่เหนือกว่าสิ่งที่ถูกสร้างอื่น ๆ มนุษย์สามารถใช้สติปัญญาในการคิด ไตรตรอง และเลือกทำให้สิ่งที่ถูกต้องได้ มนุษย์เปรียบเสมือนตัวแทนของพระองค์อัลลอฮฺ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น