วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ธนาคารอิสลามในตุรกี(The Turkey Bank)

ประวัติศาสตร์และการพัฒนาระบบธนาคารอิสลามในตุรกีเป็นเรื่องน่าสนใจเป็นพิเศษ ทั้งนี้เพราะว่าตุรกีเป็นประเทศมุสลิมประเทศเดียวที่ดำเนินนโยบายแยกรัฐออกจากคำสอนของศาสนา ในรัฐธรรมนูญของตุรกีไม่มีตรงไหนที่มีคำว่าอิสลามทั้งๆที่ประชาชนของตุรกี 99% เป็นมุสลิม มาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าศาสนาจะต้องถูกแยกออกจากเรื่องอื่นๆทั้งหมด ความจริงแล้ว ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้นำศาสนามาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนบุคคลหรือประโยชน์ทางการเมืองเสียด้วยซ้ำ

ความเคลื่อนไหวในการก่อตั้งธนาคารอิสลามในตุรกีเริ่มต้นใน ค.ศ.1983 ก่อนหน้าการเลือกตั้งใหญ่ นายกรัฐมนตรีได้ให้สัญญาว่ารัฐบาลจะออกกฎหมายพิเศษอนุญาตให้มีการก่อตั้งธนาคารอิสลามในตุรกี ถึงแม้คำสัญญานี้ดูเหมือนจะเป็นเพียงคำสัญญาเลือกตั้ง แต่ก็ปรากฏว่าตุรกีได้ถูกกดดันโดยรัฐบางรัฐในองค์การประเทศอิสลามและธนาคารอิสลามเพื่อการพัฒนาให้เปิดโอกาสสำหรับการก่อตั้งธนาคารอิสลาม

ดังนั้น หลังจากการเลือกตั้ง คณะรัฐมนตรีจึงได้ออกกฎหมายพิเศษเป็นกฤษฎีการเลขที่ 83/7506 วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.1983 ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการก่อตั้งธนาคารอิสลามในตุรกี กฎหมายนี้มี 17 มาตราและอธิบายถึงวิธีการและขั้นตอนในการก่อตั้งสถาบันการเงินพิเศษ (Special Financial House) และกิจกรรมต่างของสถาบันเหล่านี้ นอกจากนั้นแล้ว กฎหมายนี้ยังมีกฎและระเบียบอื่นๆเกี่ยวกับธนาคารอิสลามในตุรกีซึ่งออกโดยฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น กฎและระเบียบกว้างๆที่ออกโดยปลัดกระทรวงการคลังและการค้าต่างประเทศ

กฎดังกล่าวนี้ถูกตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1984 ซึ่งกล่าวถึงการก่อตั้ง โครงสร้างการดำเนินงาน รูปแบบของทุนที่สถาบันยอมรับสภาพคล่องของสถาบันและขั้นตอนทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธนาคารอิสลาม

กฎหมายอีกฉบับหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับธนาคารอิสลามออกโดยธนาคารกลางของตุรกีตีพิมพ์อยู่ในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ.1984 กฎหมายฉบับนี้มี 18 มาตราครอบคลุมเรื่องกฎระเบียบเกี่ยวกับใบอนุญาติระเบียบเกี่ยวกับการอนุญาตให้เริ่มต้นดำเนินงาน บทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการใช้เงินตราต่างประเทศที่สะสมในบัญชีและบทเฉพาะกาลทั่วไป

ลักษณะที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของกฎหมายทั้งหมดเกี่ยวกับธนาคารอิสลามในตุรกีก็คือถ้อยคำบางคำอย่างเช่น “อิสลาม” หรือ “ชะรีอ๊ะฮ” ไม่มีปรากฏให้เห็นอยู่เลย เชื่อกันว่าการใช้คำว่า “สถาบันการเงินพิเศษ” แทนคำว่า “ธนาคารอิสลาม” ก็คือ ความพยายามอย่างหนึ่งของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจที่ตองการจะหลีกเลี่ยงการขัดแย้งอย่างเปิดเผยกับเป้าหมายและหลักการที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญที่แยกรัฐออกจากศาสนา

ธนาคารอิสลามในตุรกีมีอยู่สองแห่งถ้าไม่รวมธนคารอิสลามไฟซอลแห่งกิบริสซึ่งดำเนินงานอยู่ในสาธารณรัฐตุรกีแห่งไซปรัสเหนือ นั่นคือ สถาบันการเงินอัลบะรอก๊ะฮตุรกี (Albaraka Turkish Finance House)และบรรษัทสถาบันการเงินไฟซอล (Faisal Faniance Institution Incorporation) ธนาคารทั้งสองนี้ให้บริการรับฝากเงินและปล่อยสินเชื่อ การรับฝากเงินอยู่ในรูปของบัญชีกระแสรายวันและบัญชีร่วมลงทุนบนพื้นฐานของการรับผิดชอบในการกำไรและขาดทุนร่วมกัน การปล่อยสินเชื่อก็ทำในรูปของการบวกผลกำไร (มุรอบะฮะฮ) การเข้าเป็นหุ้นส่วน การให้เช่าและการเช่าซื้อ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีบริการอื่นๆที่ธนาคารโดยทั่วไปทำกัน เช่น การโอนเงิน การเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิต การออกหนังสือค้ำประกันจากธนาคารและการปริวรรตเงินตรา เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น