วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ความเป็นมาของธนาคารอิสลาม(The history of islamic bank)

แนวความคิดในการจัดตั้งธนาคารอิสลามเริ่มมีตั้งแต่ปลายคริสตศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 โดยกลุ่มนักฟื้นฟูอิสลามที่ต้องการจะให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมุสลิมวางพื้นฐานอยู่บนบทบัญญัติในคัมภีร์กุรอานที่สั่ง“ห้ามดอกเบี้ย แต่อนุมัติการค้า” และคำสอนที่ว่า “พระผู้เป็นเจ้าจะเพิ่มพูนการทำกุศลทานและบั่นทอนดอกเบี้ย”
วิวัฒนาการของธนาคารอิสลามในบางประเทศเริ่มต้นที่อียิปต์ ธนาคารอิสลามเกิดขึ้นครั้งแรกในเมืองมิตฆ็อมร์ (Mit Ghamr) ประเทศอียิปต์ในปีค.ศ.1963 โดยความพยายามของนายอะหมัด อัลนัจญาร์ชาวอียิปต์ทั้งนี้เพื่อเป็นการทดลองการนำหลักการอิสลามที่ห้ามเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยมาใช้ในระบบธนาคาร

เดิมที ธนาคารแห่งนี้ตั้งขึ้นมาในรูปของธนาคารออมทรัพย์ท้องถิ่นและได้รับการสนับสนุนจากลูกค้าเป็นจำนวนมาก จำนวนผู้ฝากเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปีการเงินแรกของธนาคาร (1963/1964) มีผู้ฝาก 17,560 ราย จำนวนเงินฝาก 40,944 ปอนด์อียิปต์ แต่ในตอนสิ้นสุดปี 1966/1967 มีผู้ฝากเพิ่มขึ้นเป็น 251,152 ราย โดยมีจำนวนเงินฝากถึง 1,828,375 ปอนด์อียิปต์โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรและชาวบ้านในท้องถิ่น

แต่หลังจากนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นในอียิปต์ การดำเนินงานของธนาคารอิสลามที่มิตฆ็อมร์ก็ได้ถูกธนาคารแห่งชาติเข้ามาแทรกแซงจนทำให้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินแบบปลอดดอกเบี้ยของธนาคารอิสลามถูกละทิ้งและมีการนำเอาระบบดอกเบี้ยมาใช้ซึ่งทำให้ผู้ฝากลดจำนวนลงไปมากอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้นประธานาธิบดีซาดัตจึงได้ฟื้นฟูแนวความคิดเรื่องการธนาคารปลอดดอกเบี้ยขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งและในปี ค.ศ.1971 ธนาคารใหม่ที่มีชื่อว่า “นัสเซอร์ โซเชียล แบงค์” (Nasser Social Bank) ก็ได้ถูกตั้งขึ้นโดยมีรัฐบาลเป็นเจ้าของ

หลังจากนั้นก็มีธนาคารอิสลามเกิดขึ้นติดตามมาอีก 3 ธนาคาร นั่นคือ ธนาคารอิสลามไฟซอลแห่งอียิปต์ (Faisal Islamic Bank of Egypt), ธนาคารอิสลามระหว่างประเทศเพื่อการลงทุนและการพัฒนา (Islamic Internatioanl Bank for Investment and Development) และธนาคารการเงินอียิปต์ซาอุดี (Egyptian Saudi Finance Bank) โดยทั้งหมดได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการอย่างถูกต้องในอียิปต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น