วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์(Problem of Economics)

ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์เกิดขึ้นมาก็เพราะความจริงที่ว่ามนุษย์เรามีความต้องการนั่นเอง และความต้องการของมนุษย์ก็เป็นความต้องการที่ไม่สิ้นสุด ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ ตราบใดที่มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่ มนุษย์ก็ย่อมจะต้องแสวงหาสิ่งต่าง ๆ มาบำบัดความต้องการของตนอย่างไม่จบสิ้น แต่เนื่องจากว่าทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในโลกนี้มีจำนวนจำกัด ขณะที่มนุษย์มีความต้องการอย่างไม่จำกัด จึงก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ขึ้นมาทันทีว่าจะจัดแบ่งทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อบำบัดความต้องการของมนุษย์กันอย่างไร มนุษย์จึงจะได้รับความพอใจสูงสุด มนุษย์ควรจะเป็นเจ้าของปัจจัยได้มากน้อยแค่ไหน ? มนุษย์จะมีเสรีภาพในการบริโภคเพียงใด ? ตลอดจนเราจะใช้อะไรเป็นเครื่องควบคุมพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ปัญหาต่าง ๆ เหล่นี้เป็นปัญหาร่วมกันของมนุษย์ และสิ่งที่ก่อให้เกิดทฤษฎีต่าง ๆ ขึ้น เช่น ทฤษฎีของลัทธิทนนิยม และสังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ ซึ่งทฤษฎีต่าง ๆ เหล่านี้ก็มีเป้าหมายแนวความคิด และวิธีในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของมนุษย์ที่แตกต่างกันออกไป

ในเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยมนั้นให้สิทธิเสรีภาพแก่บุคคลทุกคนในการใช้ทรัพยากรการผลิตที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลในสังคมแต่ในเศรษฐศาสตร์อิสลาม มนุษย์ไม่อยู่ในฐานะที่จะจัดสรรทรัพยากรเองได้ตามอำเภอใจ เพราะอิสลามมีข้อจำกัดทางศีลธรรมอันเข้มงวด โดยมีบทบัญญัติแห่งคัมภีร์อัลกุรอ่านและแบบอย่างคำสอนของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) ซึ่งมุสลิมทุกคนจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ฉะนั้นเศรษฐศาสตร์อิสลามจึงมิได้ศึกษาแต่เพียงเรื่องของมนุษย์ในสังคมเท่านั้น แต่ยังศึกษาถึงมนุษย์ที่มีศาสนา มีคุณธรรมอยู่ในหัวใจด้วย และเศรษฐศาสตร์อิสลามไม่เพียงแต่จะเกี่ยวข้องกับมนุษย์ในเรื่องการประกอบอาชีพ การจับจ่ายใช้สอยเท่านั้น แต่อิสลามยังเน้นถึงเรื่องการหาเลี้ยงชีพอย่างถูกต้อง และห้ามการแสวงหาทรัพย์สินด้วยวิธีการที่ผิดต่อกฎหมาย หรือขัดกับหลักการที่ถูกวางไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่านและอัลฮาดิษ ทั้งนี้เพราะการทุจริตการคดโกงนั้นจะมีผลในการทำลายมนุษย์ด้วยกันเอง

ดังนั้นอิสลามจึงได้วางกฎบางประการที่คอยควบคุม และกำหนดรูปแบบตลอดจนจิตสำนึกในการแสวงหารายได้ของมนุษย์ได้อย่างเข้มงวด โดยกำหนดให้ทุกขั้นตอนของระบบเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับข้อกำหนดทางศีลธรรม ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและมีความเจริญรุ่งเรือง และที่สำคัญก็คือเพื่อความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

ในรูปแบบเศรษฐศาสตร์อิสลามมีความเชื่อว่า ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ทั้งหมดในโลกนี้รวมทั้งสรรพสิ่งต่าง ๆ ทั้งปวงนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าโดยเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว พระองค์คือผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งต่าง ๆ และเป็นเจ้าของทุกสรรพสิ่งดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน บทอาละอิมรอน โองการที่ 189
ความว่า: และเป็นสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮฺนั้นคือ ปริมาณมณฑล แห่งชั้นฟ้าและแผ่นดิน และพระองค์อัลลอฮฺทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่ง

มนุษย์จึงเป็นเพียงตัวแทนของพระองค์ที่ถูกส่งลงมายังโลกและบนผืนแผ่นดินเท่านั้น มนุษย์จึงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ และใช้สรรพสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์กับตนเองและบุคคบในสังคม ทั้งนี้ต้องอยู่ในกรอบหรือขอบเขตที่อิสลามได้กำหนดไว้ เพราะสรรสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกสร้างมานั้นก้เพื่อมนุษย์ทั้งสิน ดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน บทอัลบากอเราะฮฺ โองการที่ 29
ความว่า: พระองค์คือผู้ได้ทรงสร้างสิ่งทั้งมวลในโลกนี้ไว้สำหรับพวกเจ้าภายหลังได้ทรงมุ่งสู่ฟากฟ้าและได้ทำให้มันสมบูรณ์ขึ้นเป็นเจ็ดชั้นฟ้า และพระองค์นั้นได้ทรงรอบรู้ในทุกสิ่งทุกอย่าง

ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างดีว่าสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างทั้งหมดนั้นก็เพื่อมวลมนุษย์ มนุษย์มีความสามารถที่จะถือกรรสิทธิ์หรือครอบครองสิ่งต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้จะต้องเป็นการถือครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ได้มาอย่างถูกต้องตามหลักการของศาสนา และตามตัวบทกฎหมายที่วางไว้ กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลตามกฎหมายนั้น คือ การที่อิสลามยอมรับและคุ้มครองสิทธิการเป็นเจ้าของการจับจ่ายใช้สอย การโอนและการโยกย้ายทรัพย์สินส่วนบุคคล กรรมสิทธิ์ในการครอบครองทรัพย์สินต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับทางศีลธรรม และแม้แต่สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่นอกจากมนุษย์ก้มีส่วนร่วมในสรรพสิ่งที่ถูกสร้างด้วยเช่นกัน ดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน บทอัซซาริยาต โองการที่ 19
ความว่า: และในทรัพย์สมบัติของพวกเขาจัดไว้เป็นส่วนของผู้เอ๋ยขอ และผู้ไม่เอ๋ยขอ

อิสลามถือว่าปัจจัยหรือทรัพยากรตามธรรมชาติที่มีอยู่ เช่นพื้นดิน น้ำ ลำธาร ต้นไม้ และความอุดมสมบูรณ์อื่น ๆ นั้นมิได้เป็นของผู้ใดผู้หนึ่ง มนุษย์เป็นแต่เพียงผู้ดูแลรักษาเท่านั้น และการดูแลรักษานั้นก็มีเงื่อนไขให้มนุษย์นำทรัพยากรที่มีอยู่นั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเสมอภาคกัน มิใช่เพื่อเอารัดเอาเปรียบ หรือสร้างความมั่งคั่ง ร่ำรวยให้แก่คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ดังนั้น อิสลามจึงอนุมัติให้มีการแสวงหาทรัพย์สิน และให้มนุษย์สามารถครอบครองกรรมสิทธิ์ หรือมีกรรมสิทธิ์ในสิ่งที่มนุษย์แสวงหามาได้อย่างถูกต้อง และอิสลามก็กำหนดให้เจ้าของทรัพสินนั้นใช้มันไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวม จากคำกล่าวนี้เราสามารถกล่าวโดยสรุปก็คือ “ขณะที่อิสลามอนุญาตให้บุคคลแสวงหาหรือผลิตสินค้า อิสลามก็กระตุ้นให้บุคคลไม่ลืมว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และอิสลามก็เตือนให้เขาเห็นถึงความจำเป็นในการที่จะช่วยกันปกป้อง และส่งเสริมประโยชน์ของเพื่อนร่วมโลกของเขาด้วย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น