วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ธนาคารอิสลามในมาเลเซีย(The Malaysia Bank)

ระบบธนาคารอิสลามในมาเลเซียถือว่ามีความก้าวหน้ากว่าเมื่อเปรียบเทียบกับระบบในประเทศมุสลิมอื่นๆ ธนาคารอิสลามเริ่มต้นเมื่อมีการจัดตั้งบริษัทธนาคารอิสลามมาเลเซียขึ้นใน ค.ศ.1983 และปัจจุบัน ระบบธนาคารอิสลามของมาเลเซียได้รับการเสริมโดยตลาดเงินอิสลาม ช่องหน้าต่างบริการแบบอิสลามและตลาดหุ้นอิสลาม นอกจากนั้น ระบบธนาคารอิสลามมาเลเซียจึงทำหน้าที่เป็นแม่แบบสำหรับธนาคารอิสลามในอินโดนีเซียและบรูไนด้วย

ความริเริ่มและความพยายามก่อตั้งธนาคารอิสลามในมาเลเซียเกิดขึ้นจากฝ่ายเอกชนเช่นเดียวกับประเทศมุสลิมอื่นๆ

ข้อเสนอให้มีการจัดตั้งธนาคารอิสลามอย่างเป็นทางการครั้งแรกมีขึ้นระหว่างการประชุมสภาเศรษฐกิจภูมิบุตร (Bumiputra Economic Congress) ใน ค.ศ.1980 และสภานี้ได้ผ่านมติที่เรียกร้องรัฐบาลให้อนุญาตคณะกรรมฮัจญ์จัดตั้งธนาคารอิสลามขึ้นมา หลังจากนั้น ในการประชุมสัมมนาที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซียในค.ศ.1981 ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ขอให้รัฐบาลออกกฎหมายพิเศษที่อนุญาตให้มีการจัดตั้งธนาคารใหม่ที่วางพื้นฐานอยู่บนหลักการอิสลามขึ้นมา ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบสนองคำร้องขอดังกล่าว

ในวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ.1981รัฐบาลจึงได้ตั้งคณะทำงานแห่งชาติเรื่องธนาคารอิสลามขึ้นโดยมีราชา โมฮาร์ ราชา บะดีอุซามาน ที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในเวลานั้นเป็นประธานและคณะกรรมการฮัจญ์ของมาเลเซียรับผิดชอบงานด้านเลขานุการ

คณะกรรมการชุดนี้ได้ศึกษาทั้งการทำงานของธนาคารอิสลามไฟซอลแห่งอิยีปต์และธนาคารอิสลามไฟซอลของซูดาน หลังจากนั้นก็ทำงานถึงนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียพร้อมกับมีข้อแนะนำดังนี้ :-
1) รัฐบาลควรตั้งธนาคารอิสลามที่ดำเนินงานตามหลักกฎหมายอิสลามขึ้น

2) ธนาคารที่ถูกเสนอให้จัดตั้งควรจะอยู่ในรูปของบริษัทภายใต้พระราชบัญญัติบริษัท ค.ศ.1965

3) เนื่องจากพระราชบัญญัติธนาคาร ค.ศ.1973 ไม่สามารถใช้ได้กับการปฏิบัติงานของธนาคารอิสลามจำเป็นจะต้องมีพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามใหม่ขึ้นมาฉบับหนึ่งเพื่ออนุญาตและควบคุมธนาคารอิสลาม การควบคุมและการบริหารพระราชบัญญัติที่เสนอนี้ให้เป็นความรับผิดชอบของธนาคารกลางแห่งมาเลเซีย

4) ธนาคารอิสลามจะตั้งคณะกรรมการควบคุมทางด้านกฎหมายอิสลามของตนเองขึ้นมาเพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินงานของธนาคารอิสลามเป็นไปตามกฎหมายอิสลาม(ชะรีอ๊ะฮ)โดยแท้จริง พระราชบัญญัติธนาคารอิสลาม ค.ศ.1983 ซึ่งถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ.1983 นี้เองที่ทำให้มีการจัดตั้งธนาคารอิสลามขึ้นมาในมาเลเซีย พระราชบัญญัตินี้ให้อำนาจธนาคารกลางแห่งมาเลเซียในการควบคุมดูแลธนาคารอิสลามในมาเลเซีย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้นำพระราชบัญญัติการลงทุนของรัฐบาลออกมาใช้ใน ค.ศ.1983 เพื่อทำให้รัฐบาลสามารถออกบัตรลงทุน(หรือพันธบัตร)ของรัฐบาลตามหลักการอิสลาม ทุนเริ่มต้นในการจัดตั้งธนาคารอิสลามมาเลเซียมีจำนวน 80 ล้านริงกิต ซึ่งมาจากกระทรวงการคลัง 30 ล้านริงกิต คณะกรรมการกองทุนฮัจญ์ 10 ล้าน องค์การสวัสดิการมุสลิมแห่งมาเลเซีย 5 ล้าน สภาศาสนาประจำรัฐต่างๆ 20 ล้าน หน่วยงานด้านศาสนาของรัฐต่างๆ 3 ล้าน หน่วยงานของรัฐต่างๆ 12 ล้าน

ธนาคารอิสลามมาเลเซียถูกจัดตั้งเป็นบริษัทเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.1983 และเริ่มดำเนินงานเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมในปีเดียวกัน ขณะนี้ธนาคารอิสลามมาเลเซียมีสาขามากกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ

ธนาคารอิสลามมาเลเซียไม่เพียงแต่จะส่งเสริมผลิตภัณฑ์ธนาคารอิสลามของตนเองเท่านั้น แต่ยังนำผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินแบบอิสลามเข้าไปในบริษัทในเครือของตนด้วย

ปัจจุบันธนาคารอิสลามมาเลเซียมีบริษัทในเครือหลายแห่งที่ทำธุรกิจเช่าซื้อ บริการรับจัดการ ธุรกิจประกัน(ตะกาฟุล) การบริหารกองทุนและเป็นนายหน้าซื้อขายหุ้น

การจัดตั้งธนาคารอิสลามมาเลเซียถือเป็นการเริ่มต้นความมุ่งมั่นของรัฐบาลมาเลเซียที่จะทำให้มีธนาคารอิสลามขึ้นในมาเลเซีย ถึงแม้รัฐบาลในปัจจุบันไม่มีเจตนาที่จะทำให้ระบบการเงินทั้งหมดของประเทศเป็นระบบอิสลามก็ตาม แต่ธนาคารกลางแห่งมาเลเซียก็มีเป้าหมายที่จะสร้างระบบธนาคารอิสลามคู่ขนานไปกับระบบธนาคารเดิม ธนาคารกลางแห่งมาเลเซียเชื่อว่าเป้าหมายดังกล่าวนี้สามารถสำเร็จได้โดยการ
1) ให้มีผู้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก
2) มีเครื่องมือต่างๆทางการเงินอย่างกว้างขวาง และ
3) มีตลาดเงินระหว่างธนาคาร (อินเตอร์แบงค์) แบบอิสลาม

ในการเพิ่มจำนวนผู้มีส่วนร่วมในระบบธนาคารอิสลามนั้น ธนาคารกลางของมาเลเซียไม่ได้อนุญาตมีการเปิดธนาคารอิสลามใหม่ แต่ได้วางแผนการให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทการเงินต่างๆเปิด“ช่องหน้าต่างอิสลาม” (Islamic Windows) ขึ้นเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการธนาคารอิสลามแก่ลูกค้าของตน แผนการขั้นนี้เริ่มเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.1993 โดยมีธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุด 3 แห่งในมาเลเซียมาเข้าร่วม หลังจากนั้นอีกประมาณห้าเดือนก็มีสถาบันการเงินอีก 10 บริษัทมาเข้าร่วม ในตอนปลายปี ค.ศ.1993 ปรากฏว่ามีสถาบันการเงินจำนวน 21 แห่งได้รับใบอนุญาตจากธนาคารกลางให้เข้าร่วมในแผนการนี้ ธนาคารกลางของมาเลเซียเองก็มีส่วนในการสร้างผลิตภัณฑ์ธนาคารใหม่ที่ไม่ขัดต่อหลักการอิสลาม

ในตอนต้นปี ค.ศ.1994 ตลาดอินเตอร์แบงค์อิสลามได้ถูกนำเข้ามาในระบบการเงินของมาเลเซีย ตลาดนี้ประกอบด้วย
(1) อินเตอร์แบงค์เทรดดิ้งในเครื่องมือทางการเงิน
(2) การลงทุนอินเตอร์แบงค์อิสลาม และ
(3) ระบบเคลียริ่งเช็คอินเตอร์แบงค์อิสลาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น