วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ธนาคารอิสลามในอิหร่าน(The Iran Bank)

ระบบธนาคารอิสลามในอิหร่านเริ่มต้นทันทีหลังจากการปฏิวัติอิสลามซึ่งทำให้กษัตริย์ชาห์แห่งอิหร่านสิ้นอำนาจใน ค.ศ.1979 อย่างไรก็ตามการนำระบบธนาคารอิสลามมาใช้ก็ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยใช้เวลา 6 ปีจึงเสร็จสิ้นสมบูรณ์ หลังการปฏิวัติอิสลามมีธนาคารประมาณ 35 แห่งเกิดขึ้นในอิหร่านทั้งภาครัฐและเอกชนโดยธนาคารเหล่านี้อาศัยเงินทุนจากภายในและนอกประเทศ
ในระหว่างที่เกิดความวุ่นวายจากการปฏิวัติ ระบบธนาคารในอิหร่านต้องประสบปัญหาต่างๆมากมายทั้งในด้านทุนไหลออกและการดำเนินงาน ในวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ.1979 สภาปฏิวัติได้โอนระบบธนาคารมาเป็นของชาติและจำนวนธนาคารได้ลดลงโดยการรวมกิจการเข้าด้วยกันจนเหลือธนาคารพาณิชย์ในระบบเพียง 6 แห่งและธนาคารเฉพาะกิจอีก 3 แห่ง

ขั้นแรกที่รัฐบาลใหม่นำมาใช้ในการสร้างระบบธนาคารอิสลามในอิหร่านก็คือการนำเอา “การคิดค่าบริการสูงสุด” และ “ ประกันกำไรต่ำสุด” มาใช้ในระบบธนาคาร ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยบุคคลจากสาขาต่างๆมาจัดเตรียมกรอบกฎหมายกว้างๆเพื่อนำระบบธนาคารทั้งหมดให้เป็นไปตามหลักกฎหมายอิสลาม หลังจากนั้น ก็มีการเสนอกฎหมายดังกล่าวต่อสภาปฏิวัติในเดือนมีนาคม ค.ศ.1982 และสภาผู้แทนได้ผ่านออกมาเป็นกฎหมายในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1983 โดยเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า “ กฎหมายเพื่อการธนาคารปลอดดอกเบี้ย” (Law for Usury-Free Banking)

กฎหมายใหม่นี้ได้กำหนดให้ธนาคารต่างๆเปลี่ยนแปลงการฝากเงินโดยระบบจ่ายดอกเบี้ยมาเป็นระบบปลอดดอกเบี้ยภายในระยะเวลาหนึ่งปี นอกจากนี้แล้ว ธนาคารจะต้องเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของตนทั้งหมดตามกฎหมายใหม่ภายในเวลา 3 ปีนับตั้งแต่วันที่สภาผู้แทนอนุมัติกฎหมาย หลังจากนั้น นับตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม ค.ศ.1984 ไม่มีธนาคารใดได้รับอนุญาตให้เกี่ยวข้องกับระบบดอกเบี้ยทั้งในด้านเงินฝากและการให้สินเชื่อในเดือนมีนาคม ค.ศ.1985 ธุรกรรมของธนาคารทั้งหมดก็เป็นไปตามหลักกฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัด

การศึกษาความสำเร็จของธนาคารอิสลามในอิหร่านซึ่งเกิดขึ้นจากระบบใหม่ชี้ให้เห็นว่าเงินฝากภาคเอกชนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แสดงว่า ระบบธนาคารอิสลามมีประสิทธิภาพในการระดมเงินฝาก ส่วนในการประกอบกิจการนั้น ธนาคารอิสลามในอิหร่านจะใช้ทุนไปในธุรกิจที่ใช้วิธีการบวกกำไรแทนที่จะเข้าไปร่วมในการลงทุนเช่นเดียวกับธนาคารอิสลามในประเทศอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ.1985 ทุนทั้งหมดในการให้สินเชื่อซื้อผ่อนชำระของธนาคารอิสลามอิหร่านทั้งหมดคิดเป็น 33.3% และเพิ่มขึ้นเป็น 46.7% ในปลายปี ค.ศ.1992 แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เงินทุนที่นำไปใช้โดยวิธีการมุฏอรอบ๊ะฮฺ (ร่วมลงทุนกับผู้อื่นโดยที่ตัวเองไม่มีอำนาจเข้าไปควบคุม)กลับลดลงจาก 18.1% เหลือเพียง 9.6%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น