วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ธนาคารกับวิกฤติการทางการเงิน(financial crisis, Islamic Economics)

โดยปกติ ธุรกิจทั่วๆ ไปจะหากำไรจากส่วนต่างของราคาต้นทุนสินค้ากับราคาขาย เงินเป็นสื่อกลางในการวัดค่าของสินค้าที่ใช้ในการซื้อขาย แต่วิธีคิดของระบบธนาคารต่างออกไป ธนาคารมอง “เงิน” เป็นดั่ง “สินค้า” ประเภทหนึ่งที่มีราคาและหากำไรได้ ราคาของเงินทุน ถูกเรียกกันว่าอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นคือราคาที่เรียกเก็บจากผู้กู้ และอัตราดอกเบี้ยระยะยาวคือต้นทุนของเงินทุนที่ธนาคารกู้มาจากแหล่งเงินทุน ส่วนต่างในที่นี้คือกำไรที่ธนาคารแสวงหา
วิกฤติการณ์คราวนี้ Yield curve (กราฟแสดงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวในช่วงเวลาหนึ่ง) มีลักษณะที่แบนราบบ่งบอกว่า ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวแทบจะไม่แตกต่างกันเลย “ราคา” ที่ธนาคารได้รับจากการปล่อยกู้เกือบๆ จะเท่ากับ “ราคา” ของต้นทุนที่ธนาคารจ่ายไป ทำให้วิธีการหากำไรหลักของธนาคารโดยทั่วไปที่ผมพูดในย่อหน้าก่อนเกิด “พิการ” เมื่อธนาคารหากำไรไม่ได้มาเจอกับการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เราจึงเห็นสถาบันการเงินดิ้นรนหาเงินมาเติมเต็มช่องว่างที่ว่า หากทำไม่ได้ก็ล้มละลาย

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ ตัวดอกเบี้ยสร้างระบบผิดนัดชำระหนี้ (default) ขึ้นมาในตัวของมันเอง เนื่องจากเมื่อใดก็ตามที่ผู้กู้ยืมเงินจากธนาคาร เขาจะต้องจ่ายคืนในจำนวนที่มากกว่า (เงินต้น+ดอกเบี้ย) นั่นคือหากผู้กู้เป็นคนรายได้น้อย เขาต้องทำงานมากขึ้นเพื่อมาจ่ายหนี้ ยิ่งดอกเบี้ยทบต้นยิ่งส่งผลร้ายให้ผู้กู้มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ได้โดยง่าย จะเห็นได้ว่าระบบดอกเบี้ยสร้างกลไกให้ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ในตัวของมันเองอยู่แล้ว

มาพูดถึงธนาคารอิสลามกันสักนิด ตามทฤษฎีแล้วธนาคารอิสลามจะไม่ได้หากำไรจาก “เงิน” แต่จะทำกำไรจากการค้าในลักษณะร่วมหุ้นและแบ่งกำไรขาดทุนกัน และในส่วนของการให้กู้ ธนาคารอิสลามจะให้กู้ในลักษณะที่มีหลักทรัพย์หนุนหลัง (asset-backed financing) กระแสเงินที่ธนาคารได้รับ เกิดมาจากตัวสินค้าจริงๆ ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยจากเงินกู้ วิธีการหากำไรจึงต่างออกไป ดังนั้นการที่ Yield curve มีลักษณะแบนราบจะไม่กระทบผลกำไรของตัวธนาคารอิสลาม

อย่างที่สองก็คือ การซื้อขายหนี้ (Debt trading) ที่ทำกันอย่างเป็นวงกว้างในวงการการเงินโลก เจ้าตัวนี้แหละครับที่เป็นตัวทวีความเสียหาย เร่งให้ระบบการเงินไปสู่หายนะได้เร็วยิ่งขึ้น

การที่ธนาคารผู้ที่สมควรเป็นเจ้าหนี้ของผู้กู้รายย่อยมีช่องทางการหาสภาพคล่อง โดยการนำหนี้รายย่อยต่างๆ นั้น มาจัด port folio สร้างตราสารหนี้ตัวใหม่ขึ้นมาโดยมีเจ้าหนี้รายเล็กๆ อยู่ภายใน แล้วนำออกขายให้นักลงทุน โดยสิ่งที่นักลงทุนจะได้รับจากการซื้อตราสารเหล่านี้ก็คือกระแสเงินที่มาจากลูกหนี้ของธนาคารนั่นเอง โดยราคาของตราสารหนี้เหล่านี้จะมีราคาขายที่ต่ำกว่าราคาหนี้จริงๆ คือขายที่ราคา discount นักลงทุนเหล่านี้ก็สามารถเอาไปขายต่อในตลาดหุ้นได้

ความง่ายในการซื้อขายหนี้ ส่งผลให้เกิดความมักง่ายในการแสวงหากำไรจากการซื้อขายหนี้ดังกล่าวต่อไปเรื่อยๆ กระบวนการนี้นอกจากผู้ขายจะสามารถเพิ่มสภาพคล่องให้กับตนได้แล้ว ยังสามารถส่งผ่านความเสี่ยงไปยังผู้ถือตราสารฯได้อีกด้วย

เมื่อระบบดอกเบี้ยที่สร้างกลไกการผิดนัดชำระหนี้โดยอัตโนมัติ มาประกอบกับ ความ(มัก)ง่ายในการซื้อขายหนี้ ส่งผลให้ปัญหา sub-prime loan ที่เร้นกายอยู่ภายในระบบการเงินสหรัฐอเมริกา สำแดงอาการออกมาจนสถาบันทางการเงินหลายๆ แห่งล้มละลายไปไม่น้อย จนทางการต้องออกมาตรการช่วยเหลือเป็นจำนวนเงินมหาศาล (ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเงินภาษีของประชาชน) เพื่อช่วยเหลือบรรดาสถาบันทางการเงินที่ประสบปัญหา

ในมุมมองของหลักการอิสลาม แน่นอนว่าดอกเบี้ยเป็นตัวต้นตอของความเลวร้ายในการเงินอิสลามอย่างไม่มีข้อสงสัย ทั้งอัลกุรอานและฮะดิษได้บอกห้ามไว้ชัดเจนแล้วว่า “และถ้าหากว่าพวกเจ้ามิได้ปฏิบัติตาม (ละเว้นจากริบาอฺ) ก็พึงรับรู้ไว้ด้วย ซึ่งสงครามจากอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์…” อัลบะกาเราะฮฺ 2:279

ส่วนเรื่องการซื้อขายหนี้ ผู้รู้ส่วนใหญ่บอกว่า การขายหนี้ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าจริงๆ ให้กับผู้อื่น (คือไม่ได้ขายกลับแก่เจ้าหนี้คนแรก) เป็นสิ่งต้องห้าม หนี้เปรียบเสมือนเงินในอนาคต ต้องซื้อขาย (หรือแลกเปลี่ยน) ในมูลค่าที่เท่ากัน

ท้ายที่สุดแล้ว มุมมองที่เราละเลยไปอีกเรื่องก็คือ ผู้เดือดร้อนจริงๆ ของวิกฤติการณ์คราวนี้ น่าจะเป็น ประชาชนที่ต้องการมีบ้านเป็นของตนเอง ยามที่ราคาบ้านดีๆ ธนาคารก็เอาเงินมาให้กู้ แต่ครั้นราคาบ้านตก ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารก็มายึดบ้านคืน ครั้นจะเอาไปขายก็ราคาต่ำไม่พอชดเชยหนี้ ก็เลยล็อกบ้านไว้เฉยๆ ให้เจ้าของบ้านไปเผชิญยถากรรมในท้องถนนกันเอาเอง สมจริงดังที่มีคนเคยพูดว่า ธนาคารก็เปรียบเหมือนคนที่เอาร่มมาให้เรายามแดดร้อน (ไม่ได้ต้องการนักหรอก แต่ก็เอาไว้กันร้อนก็ดี) แต่เอาร่มคืนไปเมื่อฝนตก (พอทีต้องการจริงๆ กลับปล่อยเราลำบาก)

เรื่องความเป็นอยู่ของผู้คนจริงๆ น่าจะเป็นอีกประเด็นหลักที่ผู้มีอำนาจออกนโยบายต้องพิจารณา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น