วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ความแตกต่างทางความคิดของนักเศรษฐศาสตร์อิสลาม(The various of economist) ตอนที่ 2

กลุ่มที่ 2

ทัศนะของกลุ่มนี้มีความเห็นที่แตกต่างจากกลุ่มแรก ทัศนะของกลุ่มนี้กลับเห็นด้วยกับทัศนะที่ว่า ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์เกิดขึ้นจากการที่ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่ไม่สิ้นสุด อาจจะเป็นจริงว่าอุปสงค์รวมและอุปทานของข้าวสารที่มีอยู่บนโลกนี้อยู่ในจุดดุลยภาพ แต่ถ้าเราไปมองในสถานที่ที่หนึ่งหรือในเวลาเวลาหนึ่งจะพบว่ามีการขาดแคลนเกิดขึ้น แถมยังเกิดขึ้นบ่อยเสียด้วย ตัวอย่างเช่น อุปทานข้าวในประเทศอิทิโอเปีย บังลาเทศ แน่นอนย่อมมีความขาดแคลนมากกว่าข้าวสารในประเทศไทย ดังเหตุนั้นความขาดแคลนนั้นย่อมมี และอิสลามก็ยอมรับ ดังหลักฐานที่มีใจความว่า “และแน่นอน เราจะทดลองพวกเจ้าด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากความกลัว และความหิวด้วยความสูญเสีย (อย่างใดอย่างหนึ่ง) จากทรัพย์สมบัติ ชีวิต และพืชผล และเจ้าจงแจ้งข่าวดีกับผู้อดทนเถิด” (สูเราะห์อัลบากอเราะห์ อายาตที่ 155)

ส่วนความต้องการของมนุษย์ที่ไม่สิ้นสุด ถือเป็นเรื่องปกติ ด้วยหลักฐาน ที่มีใจความว่า “การสะสมทรัพย์สมบัติเพื่ออวดอ้าง ได้ทำให้พวกเจ้าเพลิดเพลิน จนกระทั่งพวกเจ้าเข้าไปยังหลุมฝังศพ เปล่าเลย พวกเจ้าจะได้รู้ และเปล่าเลยพวกเจ้าจะได้รู้ มิใช่เช่นนั้น ถ้าพวกเจ้าได้รู้อย่างแท้จริงแล้ว” (สูเราะห์อัตตากาซูร อายาตที่ 1-5) และก็ได้มีฮาดีษของท่านรซูลที่มีใจความสรุปว่า มนุษย์นั้นไม่เคยมีวันที่เขามีความพอเพียง ถ้าให้ทองหนึ่งก้อน เขาก็จะขอก้อนที่สอง ถ้าให้ก้อนที่สอง เขาก็จะได้ก้อนที่สาม และต่อๆ ไป จนกว่าเขาจะเข้าหลุมฝังศพ ถ้าดูแล้วกลุ่มทัศนะนี้ก็ไม่มีความแตกต่างจากแนวความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป แล้วใหนละที่เป็นอิสลาม?

ความแตกต่างของทัศนะนี้กับเศรษฐศาสตร์ทั่วไปอยู่ที่การตัดสินใจหรือการแก้ปัญหา ในการที่มนุษย์เจอกับปัญหาความขาดแคลนทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์ไม่สิ้นสุด ทำให้มนุษย์จำเป็นต้องเลือก และให้ความสำคัญก่อนหลังเพื่อตอบสนองความต้องการ และจะตัดสินใจเลือกในสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับเขาก่อน ในการตัดสินใจของมนุษย์ที่ไม่มีศาสนาจะตัดสินใจตามความอำเภอใจของเขา แต่สำหรับมนุษย์ที่มีศาสนาจะตัดสินใจตามหลักการศาสนาที่มาจากอัลกุรอ่านและสุนนะห์

นักคิดกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งคือ M.Umer Chapra, M.A.Mannan, M.Nejatullah Siddiqi และคนอื่น ส่วนใหญ่พวกเขาทำงานกับ Islamic Development Bank (IDB) ซึ่งมีงบประมาณอยู่มาก และสามารถขยายแนวความคิดได้อย่างรวดเร็ว พวกเขาส่วนใหญ่เป็นบัณฑิตที่จบจากตะวันตก ด้วยเหตุนั้นพวกเขาจึงไม่ทิ้งทฤษฎีทั่วไปลงในถังขยะ การเอาสิ่งที่ดีและมีประโยชน์จากเชื้อชาติไม่ใช่สิ่งที่ฮาราม ท่านนบีได้กล่าวว่าวิชาความรู้สำหรับมุสลิมเปรียบเสมือนสิ่งของที่สูญหาย หากมีการพบเจออุมมัตอิสลามเป็นผู้เหมาะสมที่สุดที่จะได้รับ ประวัติศาสตร์ได้จารึกถึงเหตุการณ์เหล่านี้ที่นักวิชาการมุสลิมได้จับเอาวิชาความรู้จากวัฒนธรรมอื่น เช่น ยูนาน อินเดีย จีน เปอร์เซีย เป็นต้น จนทำให้มีการเพิ่อทางความรุ้และให้แสงสว่างให้กับอิสลาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น